ิจกรรมจิตอาสาเราทําความดีเพื่อชาติศาสน์กษัตริย์ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

09 มิ.ย. 63

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน 2563 เวลา 09.00 น.อำเภอโนนไทย โดย นายสมชาย อำพันกาญจน์ นายอำเภอโนนไทย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และจิตอาสาพระราชทาน ได้ดำเนินกิจกรรมจิตอาสาเราทําความดีเพื่อชาติศาสน์กษัตริย์ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ โรงพยาบาลโนนไทย อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา

 

๙ มิถุนายน วันคล้ายวันสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘

เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู สัตปศก จุลศักราช ๑๒๘๗ รัตนโกสินทร์ศก ๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘

เป็นพระโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีและสมเด็จพระอนุชาธิราชร่วมพระราชชนกพระราชชนนี ๒ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
๒. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙

วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติและมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท ดังนั้น คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของรัฐสภาจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระชันษา ๙ ปี ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ ๑ ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไปตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ และเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ พระองค์เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ และครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘

ระหว่างกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพียง ๔ วัน พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืน เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๓๐๘ รัตนโกสินทร์ศก ๑๖๕ ตรงกับวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ณ ห้องพระบรรทม ภายในพระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง สิริพระชนมพรรษาได้ ๒๐ พรรษา ดำรงราชสมบัติได้ ๑๒ ปี

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๙ ในวโรกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นพระปรมาภิไธยอันวิเศษตามแบบแผนโบราณราชประเพณีว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมงคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ วิศิษฎศักตอัครนเรศรามาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร”

นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขานพระปรมาภิไธยอย่างมัธยมว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สกลไพศาล มหารัษฎาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร” และอย่างสังเขปว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร”

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ พระพุทธศาสนาและอาณาประชาราษฎร์เป็นอเนกประการ ฯ