“ขยะอันตราย” การป้องกันอันตรายจากขยะพิษตั้งในแต่ครัวเรือน
15 ก.ย. 63“ขยะอันตราย” การป้องกันอันตรายจากขยะพิษตั้งในแต่ครัวเรือน
“ขยะอันตราย” หรือที่เรียกว่า “ขยะพิษ” เป็นขยะที่สร้างปัญหาแก่ระบบนิเวศมากที่สุด ซึ่งมีอยู่ทั้งในบ้านเรือน ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม อาทิ มลพิษต่อแหล่งน้ำ พื้นดิน และอากาศ
ขยะอันตราย หรือขยะพิษ คือขยะที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม ขยะอันตรายจากบ้านหรือในครัวเรือนมักจะถูกมองข้ามไปอย่างละเลย ส่วนใหญ่จะไปโฟกัสกันที่ขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมกันมากกว่า ทั้งที่ขยะอันตรายภาคครัวเรือนสามารถสร้างผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก ถ้าไม่มีการจัดเก็บและทำลายอย่างถูกวิธี ได้แก่ ขยะที่ปนเปื้อนสารพิษสารเคมี สามารถลุกติดไฟได้ มีฤทธิ์กัดกร่อนไวไฟ หรือสามารถระเบิดได้ เช่น ขวดยาฆ่าแมลง กระป๋องสเปรย์ หลอดไฟเก่า ถ่านไฟฉาย เป็นต้น
ดังนั้น การป้องกันขยะอันตรายไม่ให้เกิดผลเสียต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมคือ จิตสำนึกและความรับผิดชอบในการจัดเก็บนำมาทิ้งอย่างถูกวิธีและถูกหลักของการกำจัดขยะอันตราย ซึ่งมีถังขยะแยกประเภทเป็นสีแดงโดยเฉพาะ
การบริหารจัดการขยะอันตรายเพื่อความปลอดภัยของผู้คนและสิ่งแวดล้อม มีแนวทางการกำจัดของเสียอันตรายจากชุมชนมีหลายวิธี ได้แก่
1.การคัดแยกเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ (Reuse/Reclaim) เป็นการกำจัดของเสียอันตรายบางประเภทที่สามารถรีไซเคิลวัสดุมาใช้ในกระบวนการผลิตได้
2.การปรับเสถียร/ฝังกลบ (Stabilization/Secure Landfill) เหมาะสำหรับของเสียอันตรายที่เป็นของแข็งหรือกากตะกอน เช่น กรดและด่าง ของแข็งปนเปื้อนโลหะหนักถ่านไฟฉาย สารเคมีที่เป็นพิษต่างๆ
3.การผสมของเสียเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง (Fuel Blending) เป็นการกำจัดสารเคมีประเภทน้ำมันเครื่องหรือน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว รวมทั้งของเสียอินทรีย์ สารที่สามารถติดไฟได้ เช่น กาว สี ตัวทำละลาย เป็นต้น
4.การกำจัดโดยระบบเตาเผา (Incineration) เหมาะสำหรับของเสียอันตรายที่ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยวิธีการปรับเสถียรและฝังกลบได้ ของเสียที่นำมาเผาต้องมีค่าความร้อนค่อนข้างสูง เช่น น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว ตัวทำละลาย สารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น
5.ของเสียที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้านในการกำจัด หรือกำจัดโดยวิธีพิเศษ ได้แก่ วัตถุระเบิด สารกัมมันตรังสี ของเสียติดเชื้อจากโรงพยาบาล เป็นต้น
หนึ่งในแนวทางการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การดำเนินการโดยภาคเอกชนหรือ ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐหรือการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ทำการเก็บรวบรวม การขนส่ง และกำจัดของเสียอันตราย
การจัดการของเสียประเภทนี้มีหลักการจัดการ คือ ต้องเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นควรลดปริมาณของเสียอันตรายให้น้อยที่สุด เพื่อจะได้มีของเสียที่ต้องรวบรวมเก็บขนและนำไปกำจัดน้อยลง และที่สำคัญการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายในบ้านเรือนก็คือ ต้องแยกของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไป ถ้าเป็นของเหลวไม่ควรเทรวมกันเพราะอาจจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างสารได้ แต่ควรเก็บในที่เฉพาะมิดชิดและพ้นมือเด็ก เช่น ยาที่หมดอายุ ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
เมื่อแยกของเสียอันตรายที่จะทิ้งไว้เฉพาะแล้ว ใส่ถุงพลาสติกและนำไปทิ้งในถังฝาสีแดง ซึ่งจะมีวางไว้ตามจุดต่างๆ เช่น สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ซึ่งขยะของเสียดังกล่าวจะถูกเก็บรวบรวมไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดของเสียอันตรายต่อไป
ส่วนในพื้นที่ที่ไม่มีถังฝาสีแดงให้นำของเสียอันตรายใส่ถุงพลาสติกและเขียนข้อความที่หน้าถุงว่าเป็นขยะอันตราย เพื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเก็บขนจะได้นำไปกำจัดให้ถูกวิธี เพราะถ้าไปกองรวมไว้กับขยะอื่นอาจจะมีสารพิษจากของเสียอันตรายออกมาปนเปื้อนในดินได้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด