ยุทธศาสตร์การพัฒนา

26 มิ.ย. 63

วิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่น

พัฒนาระบบบริหาร จัดการเทคโนโลยี คมนาคมดีปลอดฝุ่น เกื้อกูลเศรษฐกิจ สิ่งเสพติดห่างไกล สู่เป้าหมายคุณภาพชีวิต

พันธกิจการพัฒนาท้องถิ่น

1.พัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐแบบมีส่วนร่วมประชาชนตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
2.พัฒนาระบบการบริการและข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
3.พัฒนาท้องถิ่นให้น่าอยู่มีความเข้มแข็งโดยได้รับบริการสาธารณะโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนและเศรษฐกิจ
4.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของคน ครอบครัวและชุมชน ในการพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
5.ให้ความรู้โทษภัยของยาเสพติด
6.พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

จุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

1.การบริหารจัดการภาครัฐที่ดีประชาชนมีส่วนร่วม ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
2.ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง
3.การบริการสาธารณะที่มีประสิทธิ์ภาพ
4.ประชาชนมีความรู้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและสินค้าได้ราคาที่ดี
5.ประชาชนห่างไกลยาเสพติด
6.ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่สามารถพึ่งตนเองได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  มีบทบาท  อำนาจหน้าที่  และความรับผิดชอบมีความเป็นอิสระพอสมควร  ความสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  ให้ความสำคัญการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดกรอบความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายที่จะดำเนินในการบริหารด้านต่าง ๆ   ตามอำนาจหน้าที่ของตนเอง  ประกอบกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.  2542  โดยถ่ายโอนภารกิจในการให้บริการสาธารณะที่จำเป็น และรายได้ที่รัฐจัดเก็บให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น การดำเนินการบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกๆ ด้าน   ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความโปร่งใส  สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน การวางแผนในการดำเนินการบริหารจึงเป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้การบริหารเป็นรูปแบบและมีทิศทางการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สมดุล และมีประสิทธิภาพจะส่งผลให้องค์การบริหารส่วนตำบลสามารถดำเนินการบริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุด อันเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม  และทำให้บรรลุตามความมุ่งหมาย

  • ลักษณะของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา  เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ที่ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์และแนวทางในการพัฒนา  เป็นการแสดงถึงวิสัยทัศน์  พันธกิจ  และจุดมุ่งหมายที่จะดำเนินการพัฒนาในอนาคต  โดยแผนดังกล่าวสอดคล้องกับแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  แผนพัฒนาจังหวัด  แผนพัฒนาอำเภอ  และนโยบายในการพัฒนาท้องถิ่น

  • วัตถุประสงค์ของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา

การวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เป็นกระบวนการกำหนดทิศทางการพัฒนาในอนาคตขององค์กร  โดยกำหนดสถานะภาพความต้องการและแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  บนพื้นฐานของการรวบรวมข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ  สอดคล้องกับศักยภาพ  ปัญหาและความต้องการของชุมชน  เพื่อให้การดำเนินการตามข้อกำหนดต่าง ๆ  บรรลุตามเป้าหมาย  โดยสามารถแก้ไขปัญหาและสามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน  ครอบคลุมทุกด้าน  องค์การบริหารส่วนตำบลชนแดน  จึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาขึ้น

  • ขั้นตอนในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พ.ศ.  2548  ได้กำหนดขั้นตอนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นไว้ดังนี้

1)  คณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น จัดประชุมประชาคมท้องถิ่น ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งแนวทางการพัฒนาท้องถิ่น รับทราบปัญหา  ความต้องการ ประเด็นการพัฒนาและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความช่วยเหลือทางวิชาการ และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อนำมากำหนดแนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา  โดยให้นำข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนา จากหน่วยงานต่างๆและข้อมูลในแผนชุมชนมาพิจารณาประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา

2)  คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น   รวบรวมแนวทางและข้อมูลนำมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา  แล้วเสนอคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น

3)  คณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นพิจารณาร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา เพื่อเสนอผู้บริหารท้องถิ่น

4)  ผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาอนุมัติร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา และประกาศ ใช้ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา

สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบลให้ผู้บริหารท้องถิ่นเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อให้ความเห็นชอบก่อน   แล้วผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาอนุมัติประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาต่อไป

  • ประโยชน์ของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา

การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้พิจารณาอย่างรอบคอบให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ที่อาจมีความเชื่อมโยงและส่งผลทั้งในเชิงสนับสนุนและเป็นอุปสรรคต่อกัน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำมาตัดสินใจกำหนดแนวทางการดำเนินงานและใช้ทรัพยากรการบริหารของท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะสูงสุด และเพื่อประโยชน์ดังนี้

1)  ท้องถิ่นมีจุดมุ่งหมายและแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน

2)  ท้องถิ่นสามารถจัดสรรและบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3)  ผู้บริหารบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม  และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ

4)  แนวทางพัฒนาเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน  และมีชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนา

5)  สามารถกำกับดูแล  ติดตาม  และประเมินผลการพัฒนาได้

ยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์การบริหารส่วนตำบลค้างพลู  เป็นการกำหนดทิศทางในการพัฒนาภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาคม  เพื่อเป็นทิศทางในการพัฒนา  ที่ทำให้การดำรงชีวิตของประชาชนมีความสุข  มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  แต่สิ่งเหล่านี้จะบรรลุตามเป้าหมายได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกๆ ฝ่าย ในการที่จะนำแผนยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติอย่างมีระบบ

 

แผนพัฒนาท้องถิ่น-บัญชีสรุปโครงการพัฒนา